laborforeign http://laborthai.siam2web.com/

หลัง จากรัฐบาลไทยเปิดให้แรงงานต่างด้าวจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายไปเมื่อ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขประมาณการว่าจำนวนผู้ไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับบัตรประจำตัว (ใบ ทร.38/1) มีราว 1.3 ล้านคน ส่วนผู้ไปยื่นขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงานมี 7 แสนคน

แต่ แรงงานพม่า กัมพูชา ลาว กว่า 1.3 ล้านคน ยังถือว่าเป็น "พวกเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" ห้ามออกไปไหนทั้งสิ้น มีเพียงใบผ่อนผันชั่วคราวให้ทำงานได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เท่านั้น หากอยากมีพาสปอร์ตเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้ อยากเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างเสรี ต้องไปยื่นเรื่องขอ "พิสูจน์สัญชาติ" แล้วมาขออนุญาตทำงานให้ เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งกระทรวงแรงงานเริ่มทยอยเปิดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วตั้งแต่ปลาย เดือนสิงหาคม

รายละเอียดกระบวน การพิสูจน์สัญชาติ แบ่งเป็น 3 ประเทศ 3 ระบบ คือ ระบบพม่า ระบบกัมพูชา และระบบลาว โดยระบบของกัมพูชากับลาวจะง่ายมาก เพราะทำในกรุงเทพฯ โดยแรงงานกัมพูชาสามารถไปติดต่อได้ที่ชั้น 3 ตึกกรมการจัดหางานแถวดินแดง ส่วนแรงงานลาวปีที่แล้วใช้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค แต่ปีนี้ยังไม่ได้กำหนด ต้องรอผลประชุมในวันที่ 28 ตุลาคมเสียก่อน

ส่วนแรงงานพม่า ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านกว่าคน หรือร้อยละ 90 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ต้องเดินทางไปยังจุดชายแดน 3 แห่งที่ รัฐบาลทหารพม่ากำหนด คือ

1.เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

2.เมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก และ

3.เกาะสอง ตรงข้าม อ.เมือง จ.ระนอง

โดยมี 6 ขั้นตอนสำคัญ คือ 

1.นายจ้างรับแบบฟอร์ม "ขอพิสูจน์สัญชาติพม่า" ที่สำนักจัดหางาน 10 แห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

2.กรมการจัดหางานส่งข้อมูลไปสถานทูตพม่า เพื่อยืนยันความถูกต้อง

3.หลังยืนยันแล้วกระทรวงมหาดไทยจะให้ใบอนุญาตออกนอก พื้นที่ เพื่อให้นายจ้างพาแรงงานเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติตามที่กำหนด

4.เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้หนังสือเดินทาง 

5.จากนั้นนำมายื่นคำขอประทับตราอนุญาตที่สำนักงานตรวจคน เข้าเมืองของไทย 

6.กลับไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานในจังหวัดที่อาศัยอยู่ อีกครั้ง ทำงานได้ 2 ปีและต่อใบอนุญาตได้อีก 2 ปี

ด้วยขั้นตอนที่ ไม่เป็นระบบ สับสนยุ่งยากและย้อนไปย้อนมา ตัวแทนเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติ จึงยื่นหนังสือถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ดำเนินการแก้ไข เพราะเริ่มมีกลุ่มคนผู้มีเส้นสายและอิทธิพลอาศัยช่องทางนี้เรียกเงินค่า อำนวยความสะดวกไม่ต่ำกว่าหัวละ 7,000 บาท ที่สำคัญคือนายจ้างมักไม่สะดวกที่จะดำเนินการให้ เปิดทางให้กลุ่มนายหน้าเข้ามาจัดการ และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็คือแรงงานต่างด้าวนั่นเอง

"สมชาย หอมละออ" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา อธิบายเหตุผลที่ต้องเร่งให้รัฐบาลเข้ามาจัดการว่า ชาวพม่ากำลังถูกกลุ่มนายหน้าหลอกล่อให้เสียเงินค่าพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยมีความสับสน ยังไม่กำหนดค่าใช้จ่ายแน่นอนว่าเท่าไรกันแน่ หากเป็นไปได้รัฐบาลไทยควรเปิดเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้ง เพื่อให้การพิสูจน์สัญชาติพม่าทำได้ในเมืองไทย เหมือนกับกัมพูชากับลาว กระทรวงแรงงานให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม มีแรงงานพม่าและกัมพูชามาพิสูจน์สัญชาติหลายร้อยคนแล้ว ปีนี้ผู้ยื่นขออนุญาตทำงานแบ่งเป็นพม่า 5.7 แสนคน ลาว 7.8 หมื่นคน และกัมพูชา 6.2 หมื่นคน กลุ่มที่ยุ่งยากที่สุดคือชาวพม่า เพราะต้องทำหลายขั้นตอน ส่วนค่าใช้จ่ายก็ยังระบุแน่ชัดไม่ได้เพราะรัฐบาลพม่าบอกว่าจะเก็บค่าทำพาสปอร์ตแค่ 100 บาท ส่วนไทยก็มีค่าตรวจลงตราของด่าน ตม.อีก 2,000 บาท แต่กำลังเจรจาให้เหลือแค่ 500 บาท สำหรับระยะเวลานั้นยังเปิดให้ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติได้จนถึงปี 2553 เพราะแรงงานมีหลายแสนคน ไม่รู้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 และ 1506

"มิน" หนุ่มมอญที่ทำ งานอยู่สมุทรสาครยอมรับว่า เขากับเพื่อนๆ กำลังเครียดและปวดหัวกับเรื่องนี้มาก เพราะวิธีการพิสูจน์สัญชาติสับสน คนงานส่วนใหญ่ไม่กล้าไปพิสูจน์ เพราะครอบครัวในฝั่งพม่าส่งข่าวมาว่า ทหารพม่าและเจ้าหน้าที่เอากระดาษไปซักถามข้อมูลต่างๆ แล้วบังคับให้จ่ายเงินถ้าไม่ให้เงินจะถูกทำร้าย

"ผมเป็นชนกลุ่มน้อย หมู่บ้านที่เกิดอยู่ห่างชายแดนกาญจนบุรีไป 100 กว่ากิโลเมตร ช่วงนี้มีข่าวลือเยอะมากว่ามีแก๊งรีดไถเงิน ตอนแรกไม่เชื่อ แต่พอโทรศัพท์ไปหาแม่ก็รีบเล่าว่า มีคนพม่าอ้างว่าเป็นอาสาสมัครมาขอเงินคนในหมู่บ้าน 2 ล้านจ๊าด คิดเป็นเงินไทยก็ 6 หมื่นบาท พวกเขามีเอกสารว่าครอบครัวนี้มีลูกหลานทำงานอยู่เมืองไทย ตอนนี้เครียดมากๆ ถ้าไม่ทำให้ถูกกฎหมายก็ถูกจับ แต่ถ้าไปยื่นขอพาสปอร์ตพม่า ญาติที่โน่นก็ต้องเดือดร้อน พวกนี้มาไถเงินตลอด ผมจะทำไงดี ?" 

"สมพงค์ สระแก้ว" มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เล่าว่า ตอนนี้แนวปฏิบัติและค่าใช้จ่ายทั้งฝ่ายไทยและพม่ายังไม่ชัดเจน ทำให้กลุ่มต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ง่าย ล่าสุดแรงงานบางคนโดนเก็บเงินหัวละ 1.5 หมื่นบาท เพราะพวกเขาไม่รู้ขั้นตอน ทางออกของปัญหาคือรัฐบาลต้องเปลี่ยนให้การพิสูจน์สัญชาติเป็นเรื่องสมัครใจ เป็นทางเลือก ใครอยากทำพาสปอร์ตก็ไปทำ ทำแล้วมีเสรีภาพในการเดินทางเข้าออกพื้นที่ เปลี่ยนงานได้เสรี ส่วนใครที่ไม่อยากพิสูจน์ก็ให้ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวเหมือนเดิม 

"ต้องไม่ลืมว่าแรงงานที่ข้ามมาจากฝั่งพม่ามีหลายสัญชาติ ส่วนใหญ่เป็นมอญกะเหรี่ยงหรือชนกลุ่มน้อย คนสัญชาติพม่าจริงๆ มีน้อยมาก การที่รัฐไทยสั่งให้พวกเขาไปพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นพม่า พวกเขารับไม่ได้ เพราะบรรพบุรุษเป็นมอญ เป็นกะเหรี่ยง ไม่ใช่พม่า รัฐบาลไทยต้องคิดสร้างระบบคุ้มครองให้แรงงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ด้วย" สมพงศ์ กล่าว    

 หนึ่งในอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงานที่กำหนด นโยบายเรื่องนี้ อธิบายถึงระเบียบที่ยุ่งยากว่า เกิดจากรัฐบาลไทยไม่สามารถเจรจาต่อรองให้พิสูจน์สัญชาติในเมืองไทยได้ ฝ่ายพม่ายืนยันว่าเพื่อความสะดวกของเขา วิธีการจึงออกมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งทางฝ่ายไทยก็รู้ดีถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา แต่ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดช่วยดูแลแล้ว ส่วนเรื่องชนกลุ่มน้อยนั้น ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีเชื้อชาติใดบ้าง จึงให้ส่งข้อมูลไปให้รัฐบาลพม่ารับรองทั้งหมด ถ้าพม่าปฎิเสธมาจำนวนเท่าไร ก็ค่อยจัดระเบียบชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่พม่าใหม่อีกขั้นตอนหนึ่ง 


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 15,647 Today: 2 PageView/Month: 14

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...